หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

SSO-1 :Solid State AC Outlet

เต้ารับแบบโซลิดสเตตรีเลย์ควบคุมได้

 

SSO-1 :Solid State AC Outlet เป็นปลั๊กไฟที่ทำหน้าที่เปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยการควบคุมจากสัญญาญลอจิก อาจจะมาจากบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตัวใดก็ได้  โดยอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจหลักก็คือ Solid State Relay หน้าตาดังแสดงในรูปที่ 1 และนำมาติดตั้งเข้ากับชุดปลั๊กไฟและสวิตช์เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกและปลอดภัยกับการต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดัน 220V

 
รูปที่ 1 หน้าตาของโซลิดสเตตรีเลย์เบอร์ S202S02
รูปที่ 2 โครงสร้างภายในของโซลิดสเตตรีเลย์

เบื้องต้นเกี่ยวกับโซลิดสเตตรีเลย์

โซลิดสเตตรีเลย์ คือรีเลย์ที่ไม่มีกลไกเคลื่อนไหว ภายในจะเป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำทั้งหมด ประกอบด้วย LED อินฟราเรดและออปโต้ไตรแอก ดังแสดงโครงสร้างภายในตามรูปที่ 2 สัญญาณควบคุมแรงดันตํ่าจะถูกส่งมายัง LED อินฟราเรด เมื่อ LED ทำงานจะขับแสงไปยังออปโต้ไตรแอกเพื่อให้นำกระแสให้วงจรส่วนไฟสูงครบวงจร  ซึ่งการทำงานเช่นนี้แรงดันฝั่งไฟสูงและไฟต่ำจะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จะพบอุปกรณ์แบบนี้ ในเครื่องจักรอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาทิเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ เป็นต้น  สำหรับโซลิดสเตตรีเลย์ที่เห็นในรูปสามารถสั่งซื้อได้จาก บริษัทอินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (inex.co.th)

คุณสมบัติของ Solid State AC Outlet

  • ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า 220V กำลังสูงสุด 600W
  • มีสวิตช์สำหรับเปิดปิดโดยตรงได้ ในกรณีไม่ต้องการการควบคุม
  • ใช้สัญญาณการเปิด/ปิดด้วยลอจิก 0V และ 5V
  • มี LED แสดงสถานะการทำงานของรีเลย์
  • ความยาวสายควบคุม 50 เซนติเมตร 
  • ความยาวปลั๊กไฟ 100 เซนติเมตร

รูปที่ 3 วงจรแสดงการเชื่อมต่อปลั๊กไฟ Solid StateAC Outlet

 

การทำงานของ Solid State AC Outlet

  จากรูปที่ 3  จะเห็นอุปกรณ์ที่ต่อเป็นวงจรไม่ซับซ้อนมากนัก เริ่มจากสายสัญญาณควบคุม 5V จะถูกต่อผ่านตัวต้านทาน 1k เพื่อให้ LED ภายในของ Solid State Relay ทำงานส่งแสงไปกระตุ้นให้ต่อขาเอาต์พุตเข้าด้วยกัน ทำให้กระแสไหล 220V ไปที่ปลั๊กไฟได้  โดยในวงจรนี้ได้ต่อสวิตช์เปิด/ปิดตรง เพื่อใช้เปิด/ปิดในกรณีที่ไม่ต้องการควบคุมจากไมโครคอนโทรลเลอร์ได้ด้วย ขณะที่สั่งให้ ปลั๊กไฟทำงาน จะมี LED1 ต่อไว้เพื่อแสดงการทำงานด้วย โดยวงจรเมื่อประกอบลงกล่องเรียบร้อยแล้วจะเป็นดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 รูปร่างหน้าตาของ Solid State AC Outlet เมื่อประกอบเสร็จ

 

การต่อใช้งาน Solid State Plug กับ IPST-SE

    การควบคุม Solid State Plug ทำได้ง่ายมาก โดยถ้าส่งสถานะลอจิก “1” จาก IPST-SE อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต่อพ่วงด้วยจะทำงาน ถ้าส่งสถานะลอจิก “0” อุปกรณ์ที่ต่อพ่วงด้วยจะไม่ทำงาน สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต่อพ่วงด้วยจะต้องมีกระแสไม่เกิน 600W จะเป็นหลอดไฟ พัดลมหม้อหุงข้าวหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้

รูปที่ 5 ตัวอย่างการเชื่อมต่อเพื่อควบคุมจากบอร์ด IPST-SE

 

ตัวอย่าง พัดลมทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้

    ตัวอย่างนี้จะดัดแปลงตัวอย่าง MCP9701 Thermometer ในตัวอย่างของ IPST-SE ซึ่งนอกจากจะแสดงค่าอุณหภูมิที่หน้าจอแล้ว ให้เปิดพัดลมเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาด้วย และจะปิดพัดลมเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาโดยตัวอย่างโค้ดแสดงในโปรแกรมที่ 1 สำหรับการต่ออุปกรณ์แสดงในรูปที่ 5 โดยจะต่อโมดูลวัดอุณหภมิ MCP9701 ไว้ที่ขา 24/A0 ส่วน Solid State Plug ต่อไว้ที่ขา 17

#include <ipst.h>         
int val,i;                
float Temp;               
void setup(){
  glcdClear();            
  setTextSize(2);         
  out(17,0);
}
void loop(){
  glcd(1,0,"FAN CONTROL");
  val=0;                  
  for (i=0;i<20;i++){
    val = val+analog(0);  
  }
  val = val/20;
  if(val>182){
    out(17,1);
    glcd(5,1,"FAN ON ");
  }
  else{
    out(17,0);
    glcd(5,1,"FAN OFF");
  }
  Temp = (float(val)*0.25) - 20.51 ; 
  glcd(3,1,"%f C",Temp);        
}

โปรแกรมที่ 1 สำหรับพัดลมทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าค่าที่ตั้งไว้

ไม่มีความคิดเห็น: